เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"ป่าเปลี่ยนสี" มหัศจรรย์ ความงดงามแห่งผืนป่าน้ำหนาว


7 ม.ค. 2567, 14:55



"ป่าเปลี่ยนสี" มหัศจรรย์ ความงดงามแห่งผืนป่าน้ำหนาว




นายสมเกียรติ กาติ๊บ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว เผยภาพปรากฏการณ์ธรรมชาติ "ป่าเปลี่ยนสี" Color Changing Forest ในผืนป่าน้ำหนาว ซึ่งในช่วงต้นฤดูแล้ง ใบไม้ในป่าเต็งรัง บริเวณภูหลังกงเกวียน ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ต่างพากันเปลี่ยนสีตามห้วงเวลาแห่งฤดูกาล จากสีเขียวกลายเป็นสีส้ม สีเหลือง สีแดง สลับกันทั่วทั้งผืนป่า เสมือนมีจิตรกรเอกใช้พู่กันมาระบายแต่งแต้มสีสันลงบนผืนป่าอย่างสวยงาม ซึ่งจะเกิดขึ้นเพียงปีละครั้งช่วง เดือนธันวาคมไปจนถึงเดือนมกราคมของทุกปี 

สำหรับจุดชมป่าเปลี่ยนสี ณ ภูหลังกงเกวียน จะอยู่ริมซ้ายของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (สายหล่มสัก-ชุมแพ) กิโลเมตรที่ 419 ซึ่งเป็นจุดที่ชมป่าเปลี่ยนสีได้ชัดเจนที่สุด หรือแม้แต่ประชาชนที่สัญจรไปมาบนถนนสายนี้ ก็สามารถชมความงดงามของป่าเปลี่ยนสีได้เช่นกัน

 



อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว อยู่ในท้องที่ อำเภอหล่มเก่า อำเภอหล่มสัก อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ และอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ป่าน้ำหนาวเป็นเขตกั้นระหว่างภาคอีสานและภาคเหนือ เป็นอุทยานแห่งชาติที่สวยที่สุดแห่งหนึ่ง สภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นเทือกเขาสูงทอดยาวผ่านจังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยเฉพาะภูผาจิต ภูกุ่มข้าว และเทือกเขาโดยรอบ ประกอบขึ้นเป็นป่าต้นน้ำลำธาร ต้นกำเนิดของลำธารสายยาว 

เช่น แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำพอง แม่น้ำเลย ห้วยขอนแก่น ห้วยน้ำเขิญ ซึ่งไหลลงสู่เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนจุฬาภรณ์ ทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง มีเนื้อที่ประมาณ 603,750 ไร่ หรือ 966 ตารางกิโลเมตร อุทยานแห่งชาติน้ำหนาวในเทือกเขาเพชรบูรณ์ที่สลับซับซ้อน อันเป็นรอยต่อของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือนั้น ล้วนเต็มไปด้วยทิวเขาสูงที่มีอากาศหนาวเย็นเกือบตลอดปี และมีความหลากหลายทางชีวภาพ มนต์เสน่ห์ของพงไพรในแถบนี้มีความโดดเด่นในด้านป่าสนบนภูเขาสูงซึ่งให้ บรรยากาศแปลกตาของผืนป่าอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว ภูมิอากาศที่หนาวเย็นตลอดปี เอื้ออำนวยให้เกิดป่าสนกว้างใหญ่กระจายอยู่ทั่วภู และสามารถดึงดูดนักเดินทางได้จำนวนมาก จุดที่มีชื่อเสียงมากของอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว คือบริเวณสวนสนภูกุ่มข้าว ซึ่งมีดงต้นสนสามใบต่อเนื่องเป็นผืนใหญ่ท่ามกลางทุ่งหญ้าเขียวขจี บรรยากาศโปร่งโล่งของทิวสน ที่ยืนต้นกระจัดกระจายกันอยู่สร้างภาพที่สวยงามบาดตา ลักษณะของต้นสนสามใบมีเปลือกแตกเป็นเกล็ดคล้ายหนังจรเข้ ลำต้นสูงชะลูดกว่า 30-40 เมตร บนยอดภูกุ่มข้าวถ้าหันหน้าไปทางทิศใต้ จะมองเห็นอ่างเก็บน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์ได้อย่างชัดเจน


ที่มา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช


คำที่เกี่ยวข้อง : #onbnews  




Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.