เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"รัฐบาล" ขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายรัฐ หนุน พม. เปิดอบรมหลักสูตรล่ามภาษามือชุมชน เพิ่มโอกาส ส่งเสริมศักยภาพของผู้พิการทางการได้ยิน


1 มิ.ย. 2567, 09:58



"รัฐบาล" ขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายรัฐ หนุน พม. เปิดอบรมหลักสูตรล่ามภาษามือชุมชน เพิ่มโอกาส ส่งเสริมศักยภาพของผู้พิการทางการได้ยิน




วันที่ 1 มิถุนายน 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  ได้มุ่งเป้าเร่งขับเคลื่อนการผลิตล่ามภาษามือชุมชนให้เพียงพอต่อการให้บริการคนพิการประจำปี 2567 โดยเปิดโครงการอบรมหลักสูตรล่ามภาษามือชุมชน 135 ชั่วโมง ประสานความร่วมมือกับสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการคนพิการจังหวัด หน่วยบริการล่ามภาษามือ หน่วยงานที่ให้บริการล่ามภาษามือ และผู้สนใจ สามารถสื่อสารกับคนพิการทางการได้ยินที่มารับบริการ และต่อยอดไปสู่การเข้ารับการสอบประเมินความรู้และทักษะการเป็นล่ามภาษามือ เพื่อจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือชุมชนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งส่งเสริมความเข้าใจในปัญหาความทุพพลภาพ และระดมการสนับสนุน เพื่อศักดิ์ศรี สิทธิ และสวัสดิภาพของคนพิการ 
 



โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567  ที่ผ่านมาได้มีมติรับทราบและเห็นชอบ “ข้อเสนอเชิงนโยบายวิกฤติประชากรและสังคมผู้สูงวัย” พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายฯ ดังกล่าว ซึ่งข้อเสนอ เพิ่มโอกาสและสร้างเสริมคุณค่าของคนพิการ เป็นหนึ่งในข้อเสนอเชิงนโยบายฯ ด้วย ซึ่งรัฐบาล โดย พม. ได้มีการขับเคลื่อนสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อเสริมสร้างให้ประชาชนทุกคนมีความเท่าเทียม มีศักยภาพในการประกอบอาชีพ มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทยทุกคน โดยมุ่งมั่นให้สถานประกอบการ รวมทั้งหน่วยงานของรัฐ เปิดโอกาสให้แก่ผู้พิการทางการได้ยิน ได้แสดงศักยภาพ โดยได้เปิดอบรมหลักสูตรล่ามภาษามือชุมชน เพื่อบริการคนพิการทางการได้ยินให้ทั่วถึง ซึ่งการเป็นล่ามภาษามือ ถือเป็นการประกอบอาชีพที่มีรายได้ในการเลี้ยงดูตนเอง อีกทั้งในปัจจุบันล่ามภาษามือส่วนมากอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โครงการดังกล่าว จึงเป็นการกระจายศักยภาพการเข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐ และสามารถลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

 


“รัฐบาลและภาคประชาสังคม มีเป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือ ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ : Leave no one behind โดยมีประชาชนทุกคนเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันประเทศไทยไปข้างหน้าร่วมกันรวมทั้งประชาชนในกลุ่มผู้พิการต่าง ๆ ด้วย โดยปัจจุบันคนพิการที่ขึ้นทะเบียน มีบัตรประจำตัวคนพิการ มีจำนวนทั้งสิ้น 2,304,268 คน ในจำนวนนี้เป็นคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย 427,363 คน (ณ 30 เมษายน 2567) สำหรับการดำเนินโครงการอบรมล่ามภาษามือ พม. ได้มีการจัดอบรมระหว่างเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2567 รวม 6 รุ่น รุ่นละ 30 คน จำนวน 180 คน โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 77 จังหวัด โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ศูนย์บริการคนพิการ หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด ขณะนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการอบรมล่ามภาษามือในรุ่นต่อไป จำนวน 500 กว่าคน โดยเป้าหมายต้องการผลิตล่ามภาษามือให้ได้ 40,000 กว่าคน เพื่อให้มีล่ามภาษามือเพียงพอต่อการให้บริการคนพิการและให้สามารถผ่านการประเมินความรู้และทักษะการเป็นล่ามภาษามือชุมชนตามระเบียบที่กำหนดไว้และจดแจ้งเป็นล่ามภาษามือชุมชนเพิ่มมากขึ้น” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว


คำที่เกี่ยวข้อง : #รัฐบาล   #ข้อเสนอเชิงนโยบายรัฐ   #พม.  




Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.