เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)




"ในหลวง" พระราชทานถวายภัตตาหารเพล และสิ่งของพระราชทาน แด่พระภิกษุ-สามเณร ผู้เข้าทดสอบบาลีสนามหลวง ประจำปี 2564


8 มี.ค. 2564, 15:28





"ในหลวง" พระราชทานถวายภัตตาหารเพล และสิ่งของพระราชทาน แด่พระภิกษุ-สามเณร ผู้เข้าทดสอบบาลีสนามหลวง ประจำปี 2564



วันนี้ ( 8 มีนาคม 2564 ) ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า ที่พระอุโบสถ์ วัดศาลาลอย พระอารามหลวง ในเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภัตตาหารเพล และสิ่งของพระราชทาน แด่พระภิกษุ สามเณรผู้เข้าทดสอบบาลีและ กรรมการกำกับห้องสอบ สนามหลวง วัดศาลาลอย พระอารามหลวง โดยมีพระธรรมโมลี ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11 เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ประกอบพิธีจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย เปิดกรวยดอกไม้ธูปเทียนแพ หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นประธานถวายภัตตาหารและสิ่งของพระราชทานแด่ประธานสงฆ์ และพระภิกษุ และสามเณร ผู้เข้าสอบ

 

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาถวายภัตตาหารเพล และสิ่งของพระราชทาน แด่พระภิกษุสามเณรผู้เข้าทดสอบบาลีสนามหลวง และ กรรมการกำกับห้องสอบในระหว่างวันที่ 8-10 มีนาคม 2564 โดยมีสนามสอบ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 102 แห่ง รวม 28,224 รูป ตามที่ สำนักงานแม่กองบาลี สนามหลวงได้ประกาศเรื่อง การสอบบาลีสนามหลวง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยได้กำหนดการสอบบาลีสนามหลวง ครั้งที่ 1 ชั้นประโยค 1-2 และชั้นประโยค ป.ธ. 3, 4, 5 ในวันที่ 8-9-10 มีนาคม 2564 ในสนามสอบ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั่วประเทศ สอบพร้อมกัน สำหรับจังหวัดสุรินทร์ แม่กองบาลี สนามหลวง กำหนดให้วัดศาลาลอย พระอาหามหลวง เป็นสนามทดสอบบาลีสนามหลวง มีพระภิกษุสามเณรเข้าสอบจำนวน 517 รูป


 

สำหรับการสอบสนามหลวง คือการสอบไล่วัดความรู้พระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ไทย โดยคำว่า "สนามหลวง" นั้นสันนิษฐานว่ามาจากคำว่า "การสอบพระปริยัติธรรมบาลีในพระราชวังหลวง" โดยการสอบสนามหลวงในสมัยก่อนนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงรับเป็นพระราชภาระ ถวายความอุปถัมภ์การจัดสอบขึ้นในพระบรมมหาราชวัง โดยจัดสอบแบบปากเปล่า คือพระภิกษุหรือสามเณรผู้ศึกษาบาลีมีความรู้พอสมควรแล้ว เข้าสอบบาลีสนามหลวงโดยการแปลคัมภีร์ภาษาบาลีเป็นภาษาไทย หรือแต่งภาษาไทยเป็นภาษาบาลี ต่อหน้าพระที่นั่งและคณะกรรมการพระเถรานุเถระ โดยผู้สอบไล่ได้ในชั้นประโยคต่างๆ จะได้รับการพระราชทานสมณศักดิ์ พัดยศ ไตรจีวร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระภิกษุสามเณรผู้สอบได้ให้เป็นเปรียญ และรับนิตยภัตของหลวง เป็นการยกย่องเชิดชู

 













©2018 ONBNEWS. All rights reserved.