เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



ผู้ว่าฯ กาญจน์ เลื่อนจัดงานลานวัฒนธรรมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช


11 เม.ย. 2564, 14:04



ผู้ว่าฯ กาญจน์ เลื่อนจัดงานลานวัฒนธรรมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช




วันนี้ 11 เม.ย. 64 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายจีระเกียตริ ภูมิสวัสดิ์ ผวจ.กาญจนบุรี  ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.กาญจนบุรี  ออกหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 10 เมษายน 2564 ให้เลื่อนการจัดงานสงกรานต์ วัดวังก์วิเวการาม ประเพณีสำคัญของชาวไทยเชื้อสายมอญบ้านวังกะ ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ในการสรงน้ำพระผ่านรางไม้ไผ่ และการทำสะพานมนุษย์ เพื่อให้พระเหยียบลงมาจากที่พักมายังสถานที่สรงน้ำที่จัดเตรียมขึ้นมา



เนื่องจากคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.กาญจนบุรี เห็นอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ในการระบาดของโควิต-19 เนื่องจากหากจัดกิจกรรมจะมีนักท่องเที่ยวและประชาชนเดินทางมาร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการรดน้ำพระผ่านรางไม้ไผ่ ทำให้เกิดสะพานแออัด ที่สำคัญไม่สามารถตรวจสอบความสะอาดของน้ำที่นำมาสรงน้ำให้พระได้ เพื่อเป็นการป้องกันจึงเห็นควรให้เลื่อนการจัดกิจกรรมออกไป โดยไม่มีกำหนด

ส่งผลให้บรรยากาศวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ สังขละบุรี ปีนี้ค่อนข้างจะเงียบเหงา โดยเช้านี้บริเวณสะพานไม้อุตตมานุสรณ์และชุมชนบ้านวังกะ สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของสังขละบุรี ค่อนข้างเงียบเหงา โดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวน้อยกว่าที่ผ่านมา ส่งผลให้พ่อค้าแม่ค้าได้รับความเดือดร้อนหนัก เนื่องจากสินค้าที่นำมากักตุนไว้ หวังจะขายให้นักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ ไม่สามารถขายได้ด้านสาธารณสุข.จังหวัดกาญจนบุรีเปิดเผยข้อมูลสถานการณ์ โควิด -19 ของจังหวัดกาญจนบุรี


สำหรับกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ของชาวไทยรามัญ (ชาวมอญ) และชาวกะเหรี่ยงในเขตอำเภอสังขละบุรี โดยเฉพาะที่วัดวังก์วิเวการาม (พระราชอุดมมงคล หรือหลวงพ่ออุตตมะ) ซึ่งกิจกรรมการสรงน้ำพระของชาวมอญ โดยประชาชนนอนให้พระสงฆ์ลงจากเจดีย์พุธทคยา เพื่อไปสรงน้ำ กิจกรรมนี้ที่โด่งดังไปทั่วนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติจะรู้จักดี รวมถึงต้องเดินทางไปท่องเที่ยวทุกปี แต่ในปีนี้เกิดเชื้อไวรัสโควิด 19 ระบาด กิจกรรมทุกชนิดต้องถูกยกเลิกทั้งหมด ทำให้อำเภอสังขละบุรี ปีนี้เงียบเหงาลงไปอย่างเห็นได้ชัด ที่พัก รีสอร์ท ถูกยกเลิกร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกแห่ง

ประวัติกิจกรรมสรงน้ำพระของชาวไทยรามัญ หรือชาวมอญสืบทอดกันมาช้านาน สังขละบุรี เป็นหมู่บ้านของชาวมอญทั้งที่ตั้งรกราก มานานนับร้อยปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2494 ปัจจุบันชาวบ้านส่วนมาก มีสถานะเป็นผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า ซึ่งไม่มีบัตรประชาชนไทย ชาวมอญที่นี่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ส่วนใหญ่เลี้ยงชีพด้วย เกษตรกรรม เช่น ปลูกพืช และทำประมงชายฝั่ง ส่วนคนหนุ่มสาวส่วนมากนิยม ทำงานในโรงงานเย็บผ้า สิ่งที่เป็นเสน่ห์ของหมู่บ้านมอญแห่งนี้ คือวัฒนธรรม แบบมอญที่ยังคงอยู่และค่อนข้างชัดเจน ไม่ได้สูญหายไปกับ กาลเวลาและวัฒนธรรมของชาติอื่นนัก คนที่นี่ยังคงพูดภาษามอญ แต่งกายแบบชาวมอญ มีโปสเตอร์รูปเจดีย์และพระพุทธรูป แบบมอญอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว นอกจากการแต่งกายแล้ว ที่เห็นปุ๊บก็รู้ปั๊บว่าเป็นสาวชาว มอญอย่างจริงแท้แน่นอน ก็คือการเทินสิ่งของไว้บนศีรษะ อย่างชำนิชำนาญราวกับของที่เทินอยู่นั้น เป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย โดยไม่หวั่นเกรงแรงโน้มถ่วงของโลก ดูแล้วสง่างามมิใช่น้อยซึ่งสาว ๆ มักจะมาพร้อมกับใบหน้า ที่ฉาบไปด้วยแป้งทะนาคา เครื่องสำอาง จากภูมิปัญญาท้องถิ่นสีขาวนวลบนพวงแก้ม ช่างเป็นภาพที่ น่าประทับใจเมื่อได้พบเห็น หมู่บ้านมอญแห่งนี้ มีพระชาวมอญซึ่งเป็นที่เคารพสักการะ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวมอญในหมู่บ้าน คือหลวงพ่ออุตตมะ หรือพระราชอุดมมงคล แห่งวัดวังก์วิเวการาม ท่านเป็นคนมอญ โดยกำเนิด เกิดที่อำเภอเมาะละแหม่ง รัฐมอญประเทศพม่า ตั้งใจ เล่าเรียนศึกษาพระธรรม และสอบได้ถึงเปรียญธรรมแปด ซึ่งถือว่า สูงสุดในพม่าในขณะนั้น ต่อมาในปี พ.ศ.2494 สภาพปัญหา ภายในประเทศพม่าที่ผู้คนต้องรบราฆ่าฟันกันเอง ทำให้ท่านเกิด ความเบื่อหน่าย จึงได้ตัดสินใจข้ามชายแดนมายังฝั่งไทย และได้เป็นผู้สร้างวัดวังก์วิเวการามในเวลาต่อมา ตั้งแต่ในอดีต จนถึงปัจจุบัน

หลวงพ่ออุตตมะจำพรรษาอยู่ที่วัดวังก์วิเวการาม ภายใน วิหารที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อนอันงดงาม ชาวบ้านเรียกกันว่า หลวงพ่อขาว จากวัดวังก์วิเวการาม แยกไปอีก 1 กิโลเมตร จะเป็นที่ตั้งของเจดีย์แบบพุทธคยา มีลักษณะฐานเป็น รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนที่เป็นกระดูกนิ้ว หัวแม่มือขวาขนาดเท่าเมล็ดข้าวสาร บริเวณใกล้เจดีย์มีร้านจำหน่าย สินค้าจากพม่าหลายร้าน จำพวกผ้า แป้งพม่า เครื่องไม้ ราคา ย่อมเยา ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีมีการจัดงานคล้าย วันเกิดหลวงพ่ออุตตมะ ในงานมีกิจกรรมต่างๆประกอบด้วย พิธีกรรมทางศาสนา การแข่งขันชกมวยคาดเชือก การแสดงของ ชมรมวัฒนธรรมท้องถิ่นเช่น การรำแบบมอญ การรำตงของชาว กะเหรี่ยง และในงานประชาชนจะพร้อมใจกันแต่งกายตามแบบ วัฒนธรรมของชาวไทยรามัญและจัดเตรียมสำรับอาหาร ทูนบนศีรษะไปถวายพระ

ส่วนในวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปีวัดวังก์วิเวการาม หรือวัดหลวงพ่ออุตตมะ ที่ชาวบ้านเรียกชื่อ ตามผู้ก่อตั้งแห่งนี้จะกลาย เป็นศูนย์กลางของประเพณีสงกรานต์ของชาวมอญ ในตอนเช้า เราจะเห็นภาพพุทธศาสนิกชนชาวมอญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง แต่งกายแบบชาวมอญ บนศีรษะของแต่ละคนมีถาดภัตตาหารหรือ ของใช้ต่างๆที่เตรียมไว้ เพื่อนำไปทำบุญถวายวัด เดินเรียงราย กันเป็นริ้วขบวนสวยงามยาวสุดลูกหูลูกตา การก่อเจดีย์ทราย ที่นี่นั่นจะมีลักษณะเฉพาะ แตกต่างจากที่อื่นคือองค์ใหญ่ และจะก่อเป็นชั้นๆบนยอดจะนิมนต์พระ มาปักธงประดับในช่วงเวลากลางวัน มีการละเล่นสะบ้าและการแสดงรื่นเริง เช่น การฟ้อนรำต่าง ๆ ในวันสุดท้ายของสงกรานต์ ชาวบ้านจะออกไปร่วมกันสรงน้ำ พระโดยเริ่มจากการสรงน้ำพระพุทธรูป และเจดีย์ก่อน จากนั้น จึงมาสรงน้ำพระภิกษุและสามเณรทั้งวัด การสรงน้ำนี้จะสรงแบบ อาบทั่วทั้งตัวเลย ทั้งลูกเล็กเด็กแดงหนุ่มสาวเฒ่าแก่จะเทน้ำ ลงไปในรางไม้ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อการนี้ โดยเฉพาะรางไม้นี้ทำจาก ไม้ไผ่ผ่าครึ่งตามยาว มีความยาวเพื่อให้เกิดเป็นทางน้ำ วางเรียงราย ลักษณะคล้ายพัด ซึ่งแต่ละรางอาจจะมีสาขาแตกออกไป เพื่อให้ การสรงน้ำเป็นไปอย่างทั่วถึง รางน้ำเหล่านี้จะไหลลงที่จุดเดียวกัน พระสงฆ์ก็จะไปสรงน้ำอยู่บริเวณนั้น เมื่อสรงน้ำพระเสร็จ ชาวบ้านจึงนำน้ำที่เหลือจากการสรงน้ำพระมาเล่นสาดน้ำสนุกสนานโดย ไม่ถือสาหาความกัน

ปัจจุบัน คนมอญจากสองฝั่งประเทศยังคงหลั่งไหลมาร่วม งานสงกรานต์ประจำปีที่วัดวังวิเวก์การามกันคับคั่ง สะท้อนให้เห็น ว่าสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ของชนชาติมอญยังคงดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าพวกเขาและเธอจะเกิดในฝั่งไทยหรือฝั่งพม่า แต่ทุกคน ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นคนมอญ”ที่ยังพูดคุยและสืบทอดวัฒนธรรมเดียวกัน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ที่วัดวังก์วิเวการาม หรือวัดหลวงพ่ออุตตมะ จะกลายเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยเชื้อสายมอญแห่งอำเภอสังขละบุรี ทุกคน และ "สะพานแห่งศรัทธา พระเดินบนหลังคน สงกรานต์สังขละบุรี" ก็ถือเป็นประเพณีสงกรานต์อันงดงามของชาวมอญที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน

เนื่องจากถือเป็นงานทำบุญใหญ่ประจำปี โดยทั่วไปจะมีระยะเวลาการจัดงานทั้งหมด 5 วัน และในแต่ละวันจะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป ได้แก่ วันสงกรานต์ลง วันคาบปี วันสงกรานต์ขึ้น วันสรงน้ำพระ และวันยกฉัตรเจดีย์ (หรือวันกรวดน้ำ) โดยใน 3 วันแรก ชาวมอญผู้สูงอายุจะไปถือศีล นอนอยู่ที่วัด เพื่อทำจิตใจให้ผ่องใสต้อนรับปีใหม่ที่กำลังมาถึง และลูกหลานจะเป็นผู้นำอาหารมาส่งให้ที่วัดตั้งแต่ช่วงเช้ามืดประมาณตี 5 ของทุกวัน โดยในช่วงเช้าก็มีการทำบุญใส่บาตร โดยจะเห็นภาพชาวมอญที่เดินทูนถาดอาหารไว้บนศีรษะเพื่อนำไปถวายพระ และในช่วงประมาณ 4-5 โมงเย็น ชาวบ้านหนุ่มสาว และเด็ก ๆ จะบรรทุกน้ำจากบ้านใส่มาในรถ เพื่อพากันไปอาบน้ำให้พ่อแม่ หรือปู่ย่าตายาย ที่ไปถือศีลอยู่ที่วัด เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีที่น่าชื่นชม จากนั้นชาวมอญจะพากันขนทรายเข้าวัดไปร่วมกันก่อเจดีย์ทรายที่บริเวณต้นศรีมหาโพธิ์ ใกล้กับเจดีย์พุทธคยา ซึ่งเจดีย์ทรายนี้จะมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากที่อื่น คือ เป็นเจดีย์องค์ใหญ่องค์เดียว ที่ก่อขึ้นไปเป็นชั้นๆ มีการจุดธูปเทียนบูชา และปักธงสีประดับ ในช่วงเวลากลางวัน ชาวมอญในหมู่บ้านจะมีการเล่นสะบ้า และการฟ้อนรำรื่นเริงกัน

เข้าสู่วันที่ 4 ของเทศกาลสงกรานต์ (ปี 2557 ตรงกับวันที่ 17 เมษายน) ชาวบ้านจะออกไปร่วมกันสรงน้ำพระ โดยเริ่มจากการสรงน้ำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดก่อน จากนั้นจึงเป็นการสรงน้ำพระภิกษุ และสามเณรทั้งวัด พิธีสรงน้ำพระนี้ชาวบ้านจะถือว่าพระสงฆ์ เป็นผู้บริสุทธิ์ ที่ไม่สมควรจะเหยียบย่ำหรือสัมผัสกับพื้นดิน ชาวมอญผู้ชายทั้งผู้ใหญ่ และเด็กวัยรุ่นที่มีจิตศรัทธา จะพร้อมใจกันมานอนเรียงต่อกันเป็นแถวยาว เพื่อให้พระสงฆ์เดินเหยียบไปบนหลัง โดยชาวบ้านเชื่อกันว่าจะเป็นการช่วยขจัดปัดเป่าโรคร้าย หรือสิ่งที่ไม่ดีไม่งามออกไปจากชีวิตของตน ส่วนการสรงน้ำพระสงฆ์ ก็จะเป็นการสรงแบบอาบทั่วทั้งตัว โดยในวันนี้ลูกเล็กเด็กแดงหนุ่มสาวเฒ่าแก่ จะพากันเตรียมน้ำอบน้ำปรุงที่ลอยด้วยดอกไม้มาจากบ้าน แล้วนำมาเทลงไปในรางไม้ ที่สร้างจากไม้ไผ่ผ่าครึ่งตามยาว แล้วนำมามัดรวมผูกต่อ ๆ กัน เพื่อให้เกิดเป็นทางน้ำ วางเรียงรายเป็นรูปลักษณะคล้ายพัด เพื่อให้การสรงน้ำนี้เป็นไปได้อย่างทั่วถึง น้ำจากรางไม้ทั้งหมดนี้จะไหลไปรวมที่จุดเดียวกัน โดยมีฉากไม้ไผ่ที่ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้เป็นฉากกั้น เพื่อให้พระสงฆ์ที่เดินมาบนหลังคน ได้ไปนั่งสรงน้ำที่บริเวณหลังฉากกั้นนั้น จากนั้นชาวบ้านผู้ชายจะช่วยกันอุ้มพระไปส่งที่บันไดวัด เพื่อไม่ให้พระสงฆ์ต้องสัมผัสกับพื้นดิน เมื่อสรงน้ำพระทุกรูปเสร็จเรียบร้อยแล้ว ชาวมอญจึงนำน้ำที่เหลือจากการสรงน้ำพระ มาเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน หลังวันสรงน้ำพระซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ (ปีนี้ตรงกับวันที่ 18 เมษายน) ชาวมอญจากซุ้มต่าง ๆ ในหมู่บ้าน จะพร้อมใจกันจัดกองผ้าป่าที่ตกแต่งเป็นรูปหงส์ (สัญลักษณ์ของชาวมอญ) สีเงิน-สีทอง อย่างสวยงาม พร้อมด้วยเครื่องสังฆทาน สำรับอาหารคาว-หวาน และจตุปัจจัยไทยธรรม มารวมพร้อมกันที่หน้าตลาดวัดวังก์กลางหมู่บ้าน จากนั้นจะร่วมกันแห่กองผ้าป่า นำขบวนด้วยการฟ้อนรำตามแบบชาวมอญที่สนุกสนาน เดินเท้าเป็นแถวยาวไปยังศาลาการเปรียญของวัดวังก์วิเวการาม หลังจากที่นำกองผ้าป่าไปไว้ยังศาลาวัดเรียบร้อยแล้ว ชาวมอญทั้งหมดพร้อมด้วยพระสงฆ์ทั้งวัด จะมาตั้งแถวร่วมกันหามเสลี่ยงอัญเชิญยอดฉัตร 9 ชั้น จากวัดวังก์วิเวการาม ไปยังเจดีย์ทรายที่ชาวบ้านได้ร่วมกันก่อไว้ที่บริเวณหน้าเจดีย์พุทธคยา โดยจะใช้เชือกความยาวประมาณ 300 เมตร ผูกเชื่อมต่อจากตัวฉัตรมายังด้านหน้าของขบวน เพื่อให้ชาวบ้านได้ร่วมในพิธีอัญเชิญยอดฉัตรนี้ได้ครบทุกคน เมื่อขบวนเคลื่อนมาถึงเจดีย์ทราย จะอัญเชิญยอดฉัตรเดินวนขวา 3 รอบ จากนั้นประธานในพิธีพร้อมด้วยเจ้าอาวาสวัดวังก์วิเวการาม ร่วมกันอัญเชิญฉัตรขึ้นไปประดิษฐานที่ยอดบนสุดของเจดีย์ทราย พระสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์ จบแล้วชาวบ้านร่วมกันโปรยทาน เสร็จจากพิธียกฉัตรเจดีย์ทราย ชาวมอญจะกลับมาที่ศาลาวัดอีกครั้ง เพื่อร่วมกันทำบุญกรวดน้ำอุทิศบุญกุศลไปให้ผู้อื่น เป็นอันจบสิ้นประเพณีสงกรานต์ของชาวมอญสังขละบุรี

ส่วนกิจกรรมภายในงาน ได้แก่ การเข้าวัดถือศีล, อาบน้ำพ่อแม่ผู้สูงอายุยามเย็นที่วัด, การขนทรายไปร่วมก่อเจดีย์ของชาวมอญ, พิธีสรงน้ำพระ ผ่านรางกระบอกไม้ไผ่, ชมขบวนพระสงฆ์เดินเหยียบไปบน หลังคน, พิธีแห่กองผ้าป่า ยกฉัตรเจดีย์ทราย และทำบุญกรวดน้ำสงกรานต์

 






Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.