เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



สธ.กาญจน์ เตือนภัย! การบริโภคไส้กรอก "ไม่มี อย." อาจป่วย เมทฮีโมโกลบิน


4 ก.พ. 2565, 14:02



สธ.กาญจน์ เตือนภัย! การบริโภคไส้กรอก "ไม่มี อย." อาจป่วย เมทฮีโมโกลบิน




วันนี้ 4 ก.พ. 65 ผู้สื่อข่าว ONB news รายงานว่า นายแพทย์ชาติชาย  กิติยานันท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ได้รับแจ้งจากกลุ่มงานระบาดวิทยาโรงพยาบาลสังขละบุรี ว่า มีผู้ป่วยภาวะเมธฮีโมโกลบินนีเมีย จำนวน 1 ราย จากการสอบสวนโรคเบื้องต้นพบว่า ผู้ป่วยเด็กหญิง อายุ 5 ปี อยู่ที่หมู่ 6 ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี มีประวัติการป่วยดังนี้ วันที่ 20 มกราคม 2565 มารับการรักษาที่โรงพยาบาลสังขละบุรีด้วย อาการก่อนมาโรงพยาบาล 1 ชั่วโมง 30 นาที นั้นขณะเล่นโทรศัพท์พร้อมรับประทานไส้กรอก จำนวน 4 ชิ้น (ซื้อมาจากร้านขายแผงลอยที่หมู่ 6 บ้าน ห้วยมาลัย ร้านนี้จะมาตั้งแผงขายทุกวันพฤหัสบดีในตลาดอำเภอสังขละบุรี ส่วนในวันอื่นๆ จะขายที่ตลาดนัดอำเภอทองผาภูมิ และขายที่ร้านบริเวณหน้าบ้าน อำเภอไทรโยค สินค้าในร้าน มีผักสด ลูกชิ้น ไส้กรอก อาหารทะเล ที่ไปรับซื้อมาจากตลาดมหาชัย จ.สมุทรสาคร ทั้งหมด) หลังจากนั้น มีอาการเป็นลมหน้าคว่ำ รู้สึกตัว ไม่สลบ อาเจียน 1 ครั้ง ไม่มีไข้ ญาตินำมาส่งโรงพยาบาล เด็กทานไส้กรอก (ไม่เคยซื้อยี่ห้อนี้มาก่อน) และญาติที่รับประทานด้วยมีอาการคล้ายกับเวียนศีรษะและอาเจียน  แพทย์วินิจฉัยสงสัยภาวะเมธฮีโมโกลบินนีเมีย แพทย์ส่งต่อรพ.พหลพลพยุหเสนา และแพทย์ได้ทำการรักษา เฝ้าดูอาการจนเด็กดังกล่าวหายปลอดภัย และได้กลับไปบ้านที่อำเภอสังขละบุรี ไปแล้ว

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวต่อไปว่า มีรายงานข่าวจากข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ระบุสัปดาห์ที่ผ่านมาพบมีเด็กป่วยด้วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน (Methemoglobin) จำนวน 6 ราย ใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ 2 ราย, เพชรบุรี 1 ราย, สระบุรี 1 ราย, ตรัง 1 ราย และกาญจนบุรี 1 ราย โดยทั้งหกรายมีประวัติกินไส้กรอกซึ่งไม่มียี่ห้อ ไม่มีอย. ไม่มีฉลากระบุที่มา หรือผู้ผลิต ซึ่งภาวะ Methemoglobin เป็นภาวะที่ทำให้เม็ดเลือดแดงถูกออกซิไดช์ โดยสารออกซิแดนท์ต่างๆ กลายเป็น methemoglobin ทำให้สูญเสียความสามารถในการขนส่งออกซิเจน และสีของเม็ดเลือดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ ในเด็กจะไวต่อสารออกซิแดนท์มากกว่าผู้ใหญ่ จึงทำให้เกิดอาการได้ชัดเจน ผู้ป่วยจะมีอาการของการขาดออกซิเจน เช่น มึนศีรษะ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย หายใจเร็ว ปาก ลิ้น นิ้วมือ หรืออวัยวะอื่นๆ มีสีเขียว หากรุนแรงจะมีอาการหอบเหนื่อยมาก เลือดเป็นกรด ความดันโลหิตต่ำและเสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ได้ประสานความร่วมมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่อำเภอสังขละบุรี และอำเภอไทรโยค สอบสวนและเฝ้าระวังด้านการดำเนินงานอาหารปลอดภัย ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขอำเภอสังขละบุรี โรงพยาบาลสมเด็จพระปิยมหาราชรมณียเขต และ รพ.สต.บ้านเวียคะดี้ สรุปผลการดำเนินงานดังต่อไปนี้ ๑.ทีม SRRT ดำเนินการสอบสวนและเฝ้าระวังในพื้นที่ 2.ให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์กับประชาชนในพื้นที่ 3.เฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้ตามนิยามผู้ป่วยภาวะเมธฮีโมโกลบินนีเมีย สำหรับมาตรการที่จะดำเนินการต่อไป : 1.ให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์กับประชาชนในพื้นที่ 2 เฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้ตามนิยามผู้ป่วยภาวะเมธฮีโมโกลบินนีเมีย

“สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกับหน่วยเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร มีการตรวจเฝ้าระวัง เก็บตัวอย่างอาหาร ณ สถานที่จำหน่าย(แผงจำหน่ายอาหาร) เพื่อตรวจสอบสารปนเปื้อนในอาหาร เช่น ฟอร์มาลิน บอแรกซ์ สารกันรา สารฟอกขาว และยาฆ่าแมลง เป็นต้น ผลการดำเนินงานปี 2563 ตรวจ 1220 ผ่าน 1184 คิดเป็นร้อยละ 97.05  ปี 2564 ตรวจ 1405 ผ่าน 1331 คิดเป็นร้อยละ 94.73  ปี 2565 ตรวจ 396 ผ่าน 360 คิดเป็นร้อยละ 90.91 

ขอให้ประชาชนเลือกบริโภคไส้กรอกที่ผ่านมาตรฐาน บรรจุภัณฑ์มิดชิด เก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม และแสดงฉลากครบถ้วน โดยฉลากต้องมีข้อมูลดังนี้ ชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร(เลข อย.) สถานที่ผลิต วันผลิต วันหมดอายุ น้ำหนักสุทธิ และส่วนประกอบสำคัญ ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนมั่นใจ รับประทานไส้กรอกที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคควรรับประทานไส้กรอกในปริมาณที่เหมาะสม ปรุงให้สุกก่อนรับประทาน และรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อสุขภาพที่ดี และห่างไกลโรค” นายแพทย์ชาติชาย กล่าวในที่สุด









Recommend News






MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.