เปิด ปิด การใช้งานคุกกี้ของ ทรูฮิต (Truehits Cookies)



"สมาคมชาวสวนปาล์ม" หนุนให้ยกเลิกการใช้สารเคมีอันตราย หลังส่งผลเสียต่อสุขภาพ - กระทบกับสิ่งแวดล้อม


5 ต.ค. 2562, 16:30



"สมาคมชาวสวนปาล์ม" หนุนให้ยกเลิกการใช้สารเคมีอันตราย หลังส่งผลเสียต่อสุขภาพ - กระทบกับสิ่งแวดล้อม




นายชัยฤทธิ์ ถ่ายย้วน นายกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมัน จ.ตรัง พร้อมกรรมการสมาคมฯ จำนวนหนึ่ง  ได้ร่วมกันปรึกษาหารือเกี่ยวกับปัญหาการใช้สารเคมีของเกษตรกรในยุคปัจจุบัน ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนและกระทบกับสิ่งแวดล้อม  โดยผลจากการศึกษา วิเคราะห์ และถกปัญหาร่วมกันของกรรมการสมาคม ฯเพื่อศึกษาผลกระทบจากการใช้สารเคมีอย่างน้อย 3 ชนิดในปัจจุบัน ประกอบด้วย สารไกลโฟเซต สารพาราคว๊อท และสารคลอไพรีฟอส มีความเห็นตรงกันว่า  เกษตรกรควรจะให้มีการเลิกใช้สารพิษเหล่านี้ เพราะนอกจากตกค้างในดินเป็นเวลานานแล้ว ยังมีผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรเองด้วย


พร้อมยกตัวอย่างการสุ่มตรวจเลือดของสมาชิกกลุ่มปาล์มแปลงใหญ่ตามมาตรฐาน RSPO ในพื้นที่ ต.กะลาเส อ.สิเกา จ.ตรัง ทั้งหมด มาร่วมตรวจสารตกค้างในเลือด จำนวน 32 คน  พบว่า มีสารปนเปื้อน หรือสารตกค้างในเลือดถึง 28 คน  ในที่นี้มีสารตกค้างในเลือดที่ร้ายแรงจะต้องทำการรักษา จำนวน 4 คน  ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการใช้สารเคมีเหล่านี้ทั้งยาฆ่าแมลง และยาปราบวัชพืช ล้วนแต่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและทำลายระบบสิ่งแวดล้อม  สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมัน จ.ตรัง จึงขอเสนอปัญหานี้ไปยังคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อจะได้ศึกษารายละเอียดในเชิงลึก  และถ้าหากคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีความเห็นไปในทิศทางใด สมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมัน จ.ตรัง ก็พร้อมจะยอมรับ



โดยนางสถาพร  ธีรกิจไพศาล กรรมการสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมัน จ.ตรัง กล่าวในความเห็นส่วนตัวว่า  ประเทศไทยมีอัตราการเจ็บป่วยค่อนข้างเยอะ โรคมะเร็งก็มีอัตราการตายอันดับ 1 และโรคอื่นๆ อีกมากมาย  ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เซลล์ในร่างกายของคนเราเสื่อมเร็วจนเจ็บป่วย มาจากการได้รับสารพิษที่อันตราย ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม  ขณะที่การใช้ภูมิปัญญาของไทยตั้งแต่ดั้งเดิม เช่น น้ำหมักชีวภาพ หรืออื่นๆ ในการไล่แมลง สามารถที่จะแก้ปัญหาทดแทนในการใช้สารเคมีสารพิษต่างๆ ที่มีผลต่อสุขภาพของคนเรา  จึงอยากให้คนไทยหันมาดูว่า ถ้าเรารู้จักที่จะเรียนรู้ธรรมชาติ แล้วเอาธรรมชาติมาเกื้อกูลพวกเรา ในการแก้ปัญหาดังกล่าวแทนการใช้สารเคมี ทุกคนก็จะปลอดภัย
 


 






Recommend News





MOST POPULAR


























©2018 ONBNEWS. All rights reserved.